วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โหราศาสตร์กับชีวิตประจำวัน


โหราศาสตร์กับชีวิตประจำวัน

คนเราเกิดมาในโลกนี้ แม้เกิดวัน เดือน ปี เดียวกัน แต่วิถีชีวิตช่างแตกต่างกันเสียราวฟ้ากับดิน บางคนเกิดมาก็คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาเลยว่าได้ เพราะพ่อแม่เป็นราชามหาเศรษฐีผู้มีอันจะกิน อีกมุมหนึ่งพอเกิดมาก็พบกับความยากจน พ่อแม่ไม่มีแม้ผ้าอ้อมผืนเท่าฝ่ามือจะรองรับทารก ดีไม่ดีซ้ำร้ายเกิดมาพบแต่พ่อส่วนแม่ตายหรือพบแต่แม่หาพ่อไม่ได้ หรือไม่พบแม้กระทั่งหน้าพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้า คงนอนเฝ้าเป็นเจ้าของโรงพยาบาลตั้งแต่ลืมตาดูโลกเลยก็มี

บางคนเกิดมาในตระกูลราชามหาเศรษฐีก็จริง พอเจริญวัยเป็นหนุ่มเป็นสาวตรงกันข้ามแทนที่จะมีความสุขสบายไร้โรคาพยาธิ นั่งกินนอนกิน เช่น พ่อ แม่ ของตนแต่กลับตรงกันข้าม พ่อแม่แบ่งสมบัติให้พอได้คู่ครองเกิดล้างผลาญมรดกเสียเกลี้ยง จากสภาวะเศรษฐีเป็นยาจกวณิพกก็มากมายอีกมุมหนึ่งของชีวิต คนเกิดมาแม้พ่อแม่จะยากจน แต่มีความมานะพยายาม เกิดในฤกษ์งามยามดี มีวาสนา พอเป็นหนุ่มเป็นสาว กลับไปได้เป็นเขตลูกสะใต้ราชามหาเศรษฐีหรือทำการค้าขาย ทำราชการ ปะเหมาะเคราะห์มาวาสนาส่งเสริม ร่ำรวยวันมั่งมีคืน เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ก็มากราย

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้

คำตอบหรือครับ โลกเรามีพระท่านสอนว่า “อนิจจัง” เป็นของไม่เที่ยงแท้ แน่นอน คนเรามีชีวิตอยู่ย่อมขึ้นต่อกรรม “ทำดีได้ดี ...ทำชั่วได้ชั่ว” แต่ข้อที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามก็คือ “โชควาสนา”

คนเราเกิดมาบ้างก็รูปสวย ร่ำรวยเสน่ห์ ใครเห็นใครรักขออุ้มชูอุปถัมภ์ มีที่ให้พำนัก พึ่งอาศัย บ้างก็รูปร่างอัปลักษณ์ คือ รูปชั่วตัวดำ ใครเห็นแม่ไม่เคยทำอะไรเขาเลยก็กลับ รังเกียจเดียดฉันท์ ไม่มีใครเขาเมตตาสงสาร เห็นเป็นคล้ายกับว่า เกิดมาต่างโลกต่างกำพืด เขาเสียเหลือเกิน

นี่แหละครับ ชีวิตของคนเราจึงหนี เวรทำกรรมแต่งไปพ้น

วิชาโหราศาสตร์ เป็น ศาสตร์ (Science) อย่างหนึ่ง ที่มีมาคู่กับมนุษย์ชาติแต่โบราณกาลแล้ว ชาวบ้านเรียกกันง่าย ๆ ว่า “หมอดู” ไงล่ะ พระราชามหากษัตริย์ของไทย เราพระองค์ก็ทรงมีตำแหน่งหมอดู ไว้เป็นคู่บัลลังก์คือ ตำแหน่ง “โหราธิบดี” ไว้เป็นที่ปรึกษาวางฤกษ์ยามเพื่อจะดำเนินข้อราชการทั่วไปทั้งภายในและภายนอกเช่นพระราชพิธีต่าง ๆ และการพิชัยสงคราม อันมีการยกทัพจับศึกเหนือเสือได้ตำแหน่งหมอดู จึงอยู่ใกล้ชิดกับราชบัลลังก์มากทีเดียว ภาษาชาวบ้านเรียกตำแหน่งนี้ว่า “โหรหลวง”

หมอดูเชื่อถือได้อย่างไร

ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่า “หมอดู” ถ้าไม่จริงก็ต้องคู่กับหมอเดานั่นเอง

ถ้าคนคิดที่จะเป็นหมอดู ก็ต้องศึกษาแสวงหาความรู้ทางนี้ อย่างถ่องแท้อย่าให้ใครเขาประณามได้ว่าเป็นหมอเดากันเลย มีคนส่วนมากไม่มีทางทำมาหากินก็คิดตั้งตัวเป็นหมอดูเอาง่าย ๆ ใครมาให้ทายก็ทายไปอย่างนั้นเอง คนเรามันหลายรายก็ย่อมมีทายถูกบางผิดบ้างเป็นธรรมดา แต่คนที่ไม่รู้จริงแล้วคนทายก็มักใช้วิธีเดามากกว่าดูทีเดียว ดังนั้นจะเห็นกันอยู่ตรงท้องสนามหลวง หรือเดินเตร่หาทายโชคชาตาตามบ้าน สถานที่ราชการทั่ว ๆ ไป 

จึงใคร่ขอเรียนให้ท่านทราบว่า วิชาโหราศาสตร์ มิใช่แต่จะมีแต่ในเมืองไทย เท่านั้นเห็นจะมีเกือบทั่วโลก ทุกชาติ ทุกภาษารู้และมีหมอดูของตัวเอง แบบเมืองไทยเราเหมือนกัน

แต่ศาสตร์แขนงนี้ ถ้าสิบประวัติก็จะเห็นได้ว่า แม้สมัยพระพุทธเจ้าคือกว่า 2500 ปีมาแล้วโน้น ศาสตร์นี้เป็นที่แพร่หลายในหมู่วรรณะ “พราหมณ์” เพราะพราหมณ์ถือว่า พวกตนเป็นสื่อหรือตัวแทนของเทพเจ้าในทองฟ้าบนสรวงสรรค์หรือดินฟ้าทั้งปวง วรรณะ กษัตริย์มักจะตั้งพวกพราหมณ์เป็นที่ปรึกษาราชการ เรียกตำแหน่งนี้ว่า “ปุโรหิต” 

เพื่อให้สมอ้างข้อที่ว่า วิชาหมอดูเชื่อถือได้อย่างไร จึงใคร่ขอนำเอาประวัติโหรหลวง ที่มีชื่อเสียงดีที่สุดในประวัติศาสตร์ พงศาวดารไทยคือ พระโหราธิบดีในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา มาเล่าสู่กันฟัง ดังต่อไปนี้

เกียรติประวัติพระโหราธิบดี
พระโหราธิบดี เดิมชื่อเรียงเสียงไรไม่ปรากฏเพียงแต่กล่าวว่า เป็นชาวโอฆบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองพิจิตร ติดต่อกับพิษณุโลก ท่านผู้นี้เป็นเจ้าของตำราแบเรียนภาษาไทย เล่มแรกสุด ซึ่งมีชื่อว่า “จินดามณี” ท่านมีบุตรชายสายโลหิตเป็นปราชญ์ ฉลาดเฉลียวตั้งแต่เยาว์วัยคนหนึ่ง คือ “ศรีปราชญ์” คงเป็นที่ทราบกันดีของผู้อ่านมาแล้ว

พระโหราธิบดี มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมโหรา หรือเรียกกันทั่วไปว่า “โหรหลวง” มีหน้าที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินมาก เข้านอกออกในราชสำนักได้ทุกวัน เวลา เพื่อปรึกษาและให้เหตุผลต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์

อยู่มาครั้งหนึ่ง พระโหราธิบดี ได้ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าไว้เป็นที่ประจักษ์ความแม่นยำมากที่สุดกล่าวคือ “พระเจ้าปราสาททอง” เองพระองค์ก็ทรงรู้เรื่องโหรบ้าง และไม่มีความเชื่อถือมากนัก แต่ตำแหน่งนี้มีมาแต่โบราณกาลก็ทรงให้มีตลอดเรื่อยมาก พระโหราฯ ทำนายทายทักเป็นที่ถูกพระทัยมาก และได้รับเกียรติยศชื่อเสียงมากที่สุด ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งมีความว่า

“....ลุศักราช 1003 (พ.ศ.2184) ปีมะเส็งศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงไปประพาสพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาส์น วันนั้นเสด็จอยู่แรมเพลาค่ำออกมายืนอยู่หน้ามุขสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนารายณ์ราชกุมารส่องโคม อสุนีตกลงมาต้องหน้าบันแว่นประดับรูปสัตว์ ตกลงมาแตกกระจายลงรอบองค์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จะเป็นอันตรายหามิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระโหราทำนายถวายพยากรณ์ว่า เป็นมหาศุภนิมิต จึงทรงพระกฤษดาภินิหารยิ่งขึ้นไปแล้วจะได้พระลาภต่างประเทศ ถึงเดือน 10 กำปั่นอลิมัคหรำลูกค้าเมืองเทศบรรทุกพรรณผ้าและได้ม้าเทศ สูง 3 ศอก 2 นิ้ว เข้ามาถวาย 2 ตัว กับกั้นหยั่นฝักคำถมยาราชาวดี ประดับนพรัตน์เล่มหนึ่งกับสิ่งของนอกนั้นเป็นอันมาก”

การทำนายครั้งนั้น ครั้งแรกพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อก็หาไม่ แต่พอเกิดผลขึ้น ต่อมาก็ทรงเชื่อเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นเอง เพราะอาจเป็นคราวโชคดีไม่เป็นอันตราย และได้ข้าวของจากต่างประเทศก็ได้ แต่ก็ทรงประทานรางวับแก่พระโหราฯ ตามสมควร

ทำนายหนูและไฟไหม้วังหลวง

มีอยู่ครั้งต่อมา พระเจ้าปราสาททอง ทรงเรียกพระโหราธิบดี เข้าเฝ้าแล้วตรัสถามว่าต่อไปภายหน้าในระยะใกล้ ๆ นี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ภายในบ้านเมืองเพราะพระองค์เองตอนนี้ซักจะทรงเชื่อวิชาโหรมากพอดูอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านข้อเท็จจริงที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ จึงใคร่ขอนำเอาใจความตอนปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาคัดมาเล่ากันฟังดังนี้

“...ลุศักราช 1005 (พ.ศ.2186) ปีมะแมเบญจศก พระโหราถวายฤกษ์ฎีกาว่า ในสามวันนี้จะเกิดเพลิงไหม้ในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังถึงตกพระทัย ด้วยพระโหราคนนี้ทายแม่นยำนัก ครั้งหนึ่งเสด็จอยู่ในพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท มุสิก (หนู) ตกลงมาทรงพระกรุณาเอาขันทองครอบไว้ให้หาพระโหรามาทายพระโหราคำนวณดูแล้ว แต่ที่ทายว่าสี่ตัวนั้นผิดแล้ว ครั้นเปิดขันทองขั้นเห็นหนูมุสิกคลานอยู่สามตัวกับแม่ตัวหนึ่งเป็นสี่ตัวก็เชื่อถือพระโหรายิ่งนัก
ครั้นทราบว่าจะเกิดเพลิงไหม้จึงมิไว้พระทัย ให้ขนทองในพระราชวังออกมาไปอยู่วัดชัยวัฒนาราม ทั้งเรือบัลลังก์ เรือศรี เรือคลัง คับคั่งแออัดกันอยู่และพระราชวังนั้น เกณฑ์ไพร่พรรคด้วยพร้าขอ ตะกร้อ น้ำรัก ห้ามมิให้หุงข้าวในพระราชวังและให้เรือตำรวจคอยบอกเหตุทุก ๆ โมง ครั้นถึงคำรบสามวันเวลาสายแล้ว สี่นาฬิกาเรือตำรวจลงไปกราบทูลพระกรุณาว่าสงบอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าครั้งนี้พระโหราธิบดีคงจะผิดอยู่แล้ว สั่งเรือเถิดจะเข้าพระราชวัง เจ้าพนักงานเคลื่อนเรือพระที่นั่งถึงเข้ารับเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงฉนวนน้ำประจำ ที่พระโหราธิบดีอยู่ท้ายพายเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่าขอย้ำฆ้องก่อนจึงจะ สิ้นพระเคราะห์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ลอยเรือพระที่นั่งอยู่เพลาสายแล้ว ห้านาฬิกาเมฆตั้งพยับคลุ้มขึ้นข้างปราจินทิศ ฝนตกพรำ ๆ ลงมา ทรงพระกรุณาตรัสแก่พระโหราว่า ฝนตกลงมาสิ้นเหตุแล้วกระมัง พระโหรากราบทูลว่า ขอประทานงดก่อน พอสิ้นคำอสนีบาดเปรี้ยง ลงมาต้องเหมพระมหาปราสาทเป็นเพลิงติดเพลิงพุ่งขึ้นไหม้ลามลงมา คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในพระราชวังมิรู้จะทำประการใดและดีบุกอันดาลหลังคานั้น ไหลสาดลงมาดังห่าฝนเพลิงก็ไหม้ติดต่อไปทั้งห้องคลังเรือนหน้าเรือนหลัง พระโหรากราบทูลพระกรุณาว่าดี จะมีลาภด้วยอิสริยะยศพระเกียรติจะปรากฏไปในนานาประเทศทั้งปวง บรรดาอริราชไพรีจะเกรงพระเดชานุภาพเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟัง มีพระทัยปราโมทย์ยิ่งนัก ครั้งนั้น เพลิงไหม้แต่พระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ชิดปราสาททอง และพระที่นั่งจักรพรรดิ ไพชยนต์มหาปราสาท และพระที่นั่งสรรเพชรปราสาทจะได้ไหม้ด้วยหามิได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าพระราชวัง ทรงพระกรุณาให้ช่างจัดการก่อพระมหาปราสาท และทำคลังเรือนข้างในทั้งปวง สามเดือนเรือนข้างในจึงเสร็จ แต่พระมหาปราสาทปีหนึ่งจึงเสร็จในนามชื่อ “พระวิหารสมเด็จ”

ตามที่กล่าวมานี้แล้ว ปรากฏมีประวัติศาสตร์ไทยอีกประการหนึ่งที่นับว่าพระโหราธิบดี (หนู) ท่านทำนายไว้แม่นยำมาก นั่นคือ ชาตาของบุตรชายคนเดียวของท่านเองคือ ศรีปราชญ์ มหากวีเอกของไทยในสมัยพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง (ดูประวัติพิสดาร ในหนังสือเรื่อง “กวีเรืองนามของไทย” ของผู้รวบรวมคนเดียวกันนี้) เพราะไม่รู้ที่สูงที่ต่ำ บังอาจต่อบทพระราชนิพนธ์ขององค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาติ พระโหราธิบดีผู้เป็นพ่อเห็นว่า เห็นท่าจะไม่สู้ดีนักจึงกราบทูลว่า หากบุตรชายของตนกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นการล่วงละเมิดกฎมณเฑียรบาลถึงประหารชีวิตก็ขอได้โปรดเกล้าฯ เพียงจำคุก สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงยินยอมตาม แต่ด้วยเหตุที่ศรีปราชญ์บุตรชาย เป็นคนมุทะลุ คราวหนึ่งไปกระทำความผิดมีโทษถึงประหาร สมเด็จเจ้าฯ ทรงเนรเทศไปอยู่เมืองนคร (ศรีธรรมราช) โน้น บังเอิญปากกวีไม่มีวันอยู่เป็นสุข ยังบังอาจไปเกี้ยวพาราสีเมียของเจ้าเมืองนครฯ เข้าอีกเจ้าเมืองนครจึงจับประหารชีวิตจนได้ ทั้ง ๆ ที่ฤกษ์ตายเกิดของศรีปราชญ์ตกคราวจะต้องตายโหง ตามหลักโหราศาสตร์ที่บิดาตนได้พยากรณ์ไว้แต่เบื้องแรกแล้ว นี่ก็เท่ากับว่า วิชาหมอดูหรือโหราศาสตร์ มิใช่เรื่องเหลวไหล เลยขอให้เรียนรูกันจริง ๆ เท่านั้นเอง

ขอจบบทเกี่ยวกับเรื่อง “โหราศาสตร์กับชีวิตประจำวัน” ไว้แต่เพียงเท่านี้หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ คงจะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ตามสมควร หากเอาจริงเอาจัง มิให้ใครมาดูหมิ่นเหยียดหยามว่า “เรามิใช่หมอเดา” แต่เป็นหมอดูอย่างแท้จริงในใต้ฟ้าเมืองไทย ที่มีผู้เคารพนับถือหลักโหราศาสตร์ทั้งหลาย ว่าเป็นศาสตร์ที่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนและสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างแท้จริง
ที่มา/อ้างอิง/ผู้เขียน :ตำราพรหมชาติฉบับสมบูรณ์ โดย สำนักพิมพ์อำนาจสาส์น
เนื้อหาข้างต้นเผยแพร่แก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา/วิทยาทานเท่านั้น
บันทึก/อัปเดท :วันพุธ ที่ ๙ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น